Sunday, September 11, 2016

นักวิพากษ์วัฒนธรรมกล่าว Shin-Godzilla และ Kimi no Na wa เป็นสัญญาณสิ้นสุดยุคหนึ่งของโอตาคุมืดมน



ได้มีโอกาสอ่านบทความภาษาอังกฤษที่รวบรวมจากต้นทางภาษาญี่ปุ่น เห็นว่าน่าสนใจจึงนำมาแปลเรียบเรียงและเผยแพร่ต่อครับ



อย่างที่พอจะได้ยินข่าวกันมาบ้างเกี่ยวกับความสำเร็จของภาพยนตร์ Kimi no Na wa โดย ชินไค มาโคโตะที่ฝากผลงานสุดโรแมนติกดูแล้วเหงาไว้หลายเรื่อง และ Shin-Godzilla จากผู้กำกับที่ชอบเรียงรถถังเป็นโดมิโนแล้วระเบิดเล่นใน Evangelion อย่าง ฮิเดอากิ อันโน และ ชินจิ ฮิกูจิ แม้ทั้งสองเรื่องจะประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่นักวิพากษ์วัฒนธรรมอย่าง ฮิโรกิ อาสึมะ ชี้ให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหลังความสำเร็จนี้ อาสึมะ ได้อ้างอิงบทวิเคราะห์เรื่อง Kimi no Na wa จาก ไดสึเกะ วาตานาเบะ ในมุมมองของเรื่องแนว sekai-kei (เป็นแนวที่ชะตากรรมของโลก หรือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ถูกผูกเอาไว้กับความสัมพันธ์ของตัวละครคู่หนึ่ง) และ เกม bishojo (เกมแนวที่จะได้มีปฏิสัมพันธ์กับหญิงสาวต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยมสูงในญี่ปุ่น) โดย อาสึมะได้แสดงความเห็นไว้ดังนี้

ผมเห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของคุณวาตานาเบะว่า sekai-kei กับเกม bishojo ได้รับความนิยมสูงจากการมอบความสุขสมหวังให้กับตัวละคร แต่สิ่งที่ผมเห็นไม่ใช่จุดเริ่มของยุคสมัยใหม่ หากแต่เป็นจุดสิ้นสุดของยุคสมัย ให้พูดง่าย ๆ หลังจากดู Shin-Godzilla กับ Kimi no Na wa จบ ผมรู้สึกถึงสื่อโอตาคุที่สิ้นสุดลง ทั้ง Gainax โอตาคุ (ยุคที่หนึ่ง) และ sekai-kei โอตาคุ (ยุคที่สอง) ต่างเติบโตมาถึงจุดที่นำเสนอตัวละครที่รักและยอมรับตัวตนของตัวเองมากขึ้นจนเป็นที่ยอมรับจากมวลชน ในขณะที่โอตาคุที่แสดงภาพที่ไร้ความหวังและไร้จุดหมายกลับหายไป ซึ่งก็เป็นทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี สำหรับผมที่ผ่านประวัติศาสตร์สื่อโอตาคุมาตั้งแต่ปี 1971 มาจนถึงปัจจุบัน ปีนี้ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญเลยทีเดียว


ก็ดูเป็นมุมมองของนักวิพากษ์ทางวิชาการดีนะ ตอนนี้บอร์ดฝรั่งกำลังเถียงกันว่าที่มันพูดหมายความว่ายังไงระหว่าง ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปและโอตาคุในความหมายเดิม ๆ ได้สิ้นสุดลงและได้รับการยอมรับมากขึ้น กับ การสื่อตัวละครที่แสดงความสิ้นหวังมืดมนไร้อนาคตอย่างในซีรี่ย์ Evangelion มันหายไป แล้วเปลี่ยนเป็นตัวละครมีความสุขในตอนท้ายแทน ดูจากบริบทแล้วคิดว่าอย่างหลังนะ


ฮิโรกิ อาสึมะ ถือเป็นนักวิพากษ์ทางสังคมที่มีชื่อเสียงและอิทธิพลอย่างมาก เขาศึกษาในเรื่องของวัฒนธรรมย่อยของญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 1993 และมีความเชียวชาญโดยเฉพาะในเรื่องวัฒนธรรม โอตาคุ เกม และอินเทอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment